SAFE INTERNET CAMP

อยากเป็นเน็ตไอดอลที่ดี ต้องเลิกบูลลี่บนโลกออนไลน์

The Idol of Anti-cyberbully โดยทีม W.K. Team โรงเรียนวัดกก จังหวัดกรุงเทพมหานคร

คุณเคยโดนบูลลี่ไหม? สำหรับเด็กนักเรียนโรงเรียนวัดกกอย่างเราคุ้นเคย กับคำว่าบูลลี่ เพราะเคยเห็นข้อความด่าทอกันรุนแรงในโลกออนไลน์ที่คนใช้เป็นประจำ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หนักสุดก็ทวิตเตอร์ที่ใครๆ ก็สามารถสมัคร แอ็กฯ หลุมมาทวิตคำไม่สุภาพกันได้อย่างอิสระ

ใครที่เคยโดนบูลลี่คงรู้ดีว่าเป็นความรู้สึกที่ไม่สนุกเลยสักนิด เราเคยเห็นเพื่อนหลายคนที่เป็นฝ่ายถูกกระทำรู้สึกเครียด เหม่อลอย ไม่อยากมาโรงเรียน บางคนก็เป็นโรคซึมเศร้าไปเลย หรือหลายครั้งที่เห็นคนทะเลาะกันเพราะคำพูด ในอินเทอร์เน็ต มันทำให้เรามองเห็นปัญหานี้ก่อนจะได้มาร่วมค่าย Young Safe Internet Leader Camp Version 1.0 เสียอีก
เพราะฉะนั้น เมื่อเราได้รับภารกิจให้คิดโครงการเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย เดาได้ใช่ไหมว่าเราอยากทำโครงการอะไร

เเราคิดว่าโซเชียลมีเดียเป็นสิ่งที่ดีถ้ารู้จักใช้ให้เป็นประโยชน์ เราจึงอยากสร้างกิจกรรมที่ชวนน้องๆ ม.1-2 และเพื่อนๆ ม.3 มาเรียนรู้เรื่องการใช้คำพูดออนไลน์อย่างสร้างสรรค์ ลดพฤติกรรมทำร้ายกันผ่านถ้อยคำ คิดไปคิดมาก็ได้เป็นกิจกรรม ‘The Idol of Anti-cyberbully’ ขึ้นมา จากไอเดียว่าเดี๋ยวนี้ใครๆ ก็อยากเป็นไอดอล แต่จะเป็นเน็ตไอดอลที่ดีได้ต้องไม่บูลลี่และปล่อยพลังงานด้านลบให้คนอื่น


หลังจากรวมตัวเพื่อนๆ และน้องๆ เรียบร้อย เราเริ่มกิจกรรมด้วยการเกริ่นเรื่องบูลลี่คร่าวๆ ให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน และยกตัวอย่างพฤติกรรมที่เป็นการบูลลี่ให้ฟัง จากนั้นเปิดวิดีโอที่เล่าเรื่อง ‘เหยื่อบูลลี่’ เพื่อให้ทุกคนเห็นผลลัพธ์ของถ้อยคำที่เราอาจมองว่า ‘ไม่เป็นไรหรอก’ แต่มันอาจทำร้ายชีวิตของใครคนหนึ่งได้เลย

กิจกรรมถัดมาคือ ‘เกมแปะป้าย’ เราแจกกระดาษโพสต์อิทให้ทุกคน แล้วให้เขียนความในใจที่มีต่อเพื่อน จากนั้นนำไปแปะที่ส่วนไหนก็ได้ ของเพื่อนคนนั้น ระหว่างทำกิจกรรมนี้ทุกคนต่างหัวเราะคิกคัก ลุ้นว่าเพื่อนจะเขียนอะไรแล้วมาติดบนตัวเรา ลุ้นว่าเพื่อนคิดกับเราแบบไหน

คำพูดที่แต่ละคนเขียนมีหลายอารมณ์ผสมกันไป ทั้งฮา เศร้า บางอันก็ให้กำลังใจ และบางคนก็แอบบูลลี่เพื่อนซะงั้น แต่ไม่เป็นไรหรอก เพราะความสำคัญของกิจกรรมนี้อยู่ที่ช่วงหลังจากที่ทุกคนแปะป้ายให้กันเสร็จ เราชวนทุกคนมานั่งคุยกันว่าพอโดนแปะแบบนี้แล้วรู้สึกยังไง พร้อมให้คนที่แปะย้อนคิดไปถึงตัวเองว่าถ้าฉันโดนแปะคำนี้บ้างจะรู้สึกยังไง เหมือนเราได้เรียนรู้ใจเขาใจเราผ่านกิจกรรมนี้นั่นแหละ

หลังจากได้ความรู้และเล่นเกมกันไปอย่างสนุกสนาน ก็เข้าสู่ช่วงวัดผลด้วยการให้ทุกคนทำแบบทดสอบ แต่นี่ไม่ใช่บททดสอบเพื่อความเข้าใจกิจกรรมเท่านั้น แต่คือบททดสอบเพื่อคัดเลือกผู้ชนะของแต่ละระดับชั้น (ม.1-3) ให้ครองตำแหน่ง The Idol of Anti-cyberbully ระดับชั้นละ 1 คน โดยให้รางวัลเป็นตุ๊กตาสัตว์ตัวใหญ่ไปกอดที่บ้าน

จากกิจกรรมทั้งหมด เพื่อนๆ และน้องๆ เห็นตรงกันว่าการโดนบูลลี่นั้นไม่สนุก และการบูลลี่คนอื่นสร้างผลกระทบกับคนคนหนึ่งได้มากแค่ไหน เราเรียนรู้ ที่จะรับมือกับการโดนบูลลี่ในออนไลน์และเรียนรู้ที่จะไม่ไปบูลลี่คนอื่น

ถึงจะไม่ได้ตำแหน่ง The Idol of Anti-cyberbully แต่หลังจากนี้ เราก็อยากเป็นผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่ดีต่อไป

สุดท้ายนี้ ขอให้ทุกคนใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย รับมือกับการบูลลี่ด้วยการ ไม่เก็บคำพูดไม่ดีมาใส่ใจ ที่สำคัญอย่าไปบูลลี่คนอื่นนะ :)

เคล็ดลับจัดกิจกรรมให้น่าสนใจแถมได้ความรู้แบบ W.K. Team

1. ออกแบบกิจกรรมจากประเด็นที่เด็กทุกคนสนใจและเคยโดนกันมาทั้งนั้น คือประเด็นบูลลี่
2. นำเสนอด้านวิชาการเพื่อให้ความรู้ผ่านสื่อวิดีโอเข้าใจง่าย และมีเกมให้เล่นอย่างสนุกสนาน
3. จัดประกวดเพื่อให้ทุกคนแข่งขันกัน พร้อมให้รางวัลเป็นตุ๊กตาตัวโตที่ใครๆ ก็อยากได้


#ส่องสกิลเด็ด

ความเป็นผู้นำ, การนำเสนออย่างสร้างสรรค์

สมาชิก W.K. Team

นายวัชรพงษ์ ดารัตน์, นายเจษฎาภรณ์ พงษ์รัตน์,
นางสาวมะลิวัลย์ กุลวงค์, นางสาวชลภัทร จันทร์โอ,
ด.ญ.ณัฐมน แจ่มใส, อาจารย์อบรมกิจ แก้วนอก



ภาพโครงการของพวกเรา