SAFE INTERNET CAMP

เลิกล้อ เลิกแซว เด็กรุ่นใหม่ไม่บูลลี่ LGBTQ หยุดทำร้ายกันด้วยคำพูด

Salmon Theme โรงเรียนพนมไพรวิทยาคาร จังหวัดร้อยเอ็ด

เมื่อ Young Safe Internet Leader Camp Version 1.0ให้โจทย์ว่า ‘จงออกแบบกิจกรรมเพื่อต่อต้านภัยร้ายในโลกออนไลน์’ พวกเราจึงคิดถึงการ Cyberbully กลุ่มคนซึ่งเป็น LGBTQ ขึ้นมา เพราะด้วยประสบการณ์ตรงของคนในทีม ที่เคยแซวเพื่อนซึ่งเป็น LGBTQ ด้วยคำพูดไม่ดี (แต่ตอนนั้นเราเห็นเป็นเรื่องปกติ) ล้อเพศสภาพของเขา จนทำให้เพื่อนเกิดความเครียดและเริ่มขาดเรียนบ่อยๆ เพราะรู้สึก ไม่มั่นใจ ไม่อยากเข้าสังคม จากที่พูดกันด้วยความสนุกสนาน พวกเราเลยตระหนักขึ้นได้ว่า นี่คือสิ่งที่เราควรให้ความสำคัญและไม่ทำอีก

ด้วยเหตุนี้พวกเราจึงอยากให้กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นเน้นไปที่กลุ่มเพื่อน LGBTQ เป็นหลัก เพราะคิดว่าพวกเขามีโอกาสโดน Cyberbully ได้สูงกว่า ตอนที่คิดว่าจะทำกิจกรรมอะไร เราจึงแบ่งหน้าที่ กระจายตัวออกไปพูดคุยสอบถามความเห็นของพวกเขา เพื่อจะได้มีข้อมูลและสามารถคิดกิจกรรมขึ้นมาได้อย่างตรงจุด สุดท้ายจึงออกมาเป็น ‘การจัดค่ายให้ความรู้’ เพราะเราพบว่ายังมีเพื่อนอีกหลายคนที่ไม่รู้ว่าการโดนล้อแบบนี้ไม่ใช่เรื่องปกติ และไม่ใช่เรื่องที่สมควรโดน

เพราะเป็นการจัดค่าย กิจกรรมของเราจึงกินเวลายาวนานร่วม 3 เดือนทีเดียว ในเดือนแรกพวกเรามุ่งเน้นไปที่ การประชาสัมพันธ์ให้คนรับรู้ว่าเรากำลังจะจัดค่ายนี้ขึ้น เราทั้งสร้างเพจ ติดประกาศ ฝากอาจารย์กระจายข่าว พูดคุยและชวนเพื่อนๆ มารู้จักการ Cyberbully กันทีละนิดเพื่อเป็นน้ำจิ้ม ก่อนจะได้ไปรู้จักและเรียนรู้ วิธีรับมือจริงๆ ในวันงาน อ้อ ลืมบอกไปเลยว่าค่ายครั้งนี้เราเปิดโอกาสให้เพื่อนๆ ต่างโรงเรียนเข้าร่วมได้ด้วย เพราะยิ่งมีคนรู้เรื่องนี้เยอะก็ยิ่งเป็นผลดีใช่ไหมล่ะ

พอได้คนเข้าร่วมกิจกรรมครบ 50 คน เราก็เริ่มจัดค่าย ในวันนั้นมีกิจกรรมหลายอย่าง ช่วงเช้าคือการฉายหนังตัวอย่าง พร้อมอธิบายให้ความรู้เรื่อง Cyberbullying ซึ่งนอกจากจะบอกโทษของมันแล้ว เรายังบอกวิธีการรับมือและการแก้ปัญหา เมื่อเกิดเรื่องนี้ขึ้นให้เพื่อนๆ รับรู้ด้วย ส่วนช่วงบ่ายเราก็มีกิจกรรมให้ทุกคนได้ลุกขึ้นมายืดเส้นยืดสาย ด้วยการหาตัวแทน มานั่งกลางวง แล้วให้เพื่อนๆ ใช้โพสต์อิทเขียนด่าและเขียนชมคนคนนั้น เพื่อจำลอง ‘การโพสต์’ ในโลกอินเทอร์เน็ต


จากกิจกรรมนี้ คำด่าที่เราพบบ่อยในหลายๆ กลุ่มคือ ‘อีตุ๊ด’, ‘อีกระเทย’ หรือคำที่ล้อเลียน รูปลักษณ์ของกันและกัน แน่นอนว่าถึงแม้เราจะอธิบายให้ตัวแทนกลุ่มเข้าใจแล้วว่านี่คือการจำลองสถานการณ์เท่านั้น แต่สีหน้าของเพื่อนตอนอ่านและรับรู้ข้อความเหล่านั้นก็ไม่สู้ดีนัก

ผิดกับตอนได้รับกระดาษเขียนชื่นชมว่าตัวเองมีข้อดีอะไรบ้าง หรือมีนิสัยน่าคบหาแค่ไหน เพื่อนที่เป็นตัวแทนกลุ่มจะยิ้มกว้างอย่างดีใจ เท่านี้ก็เหมือนเราได้พิสูจน์ให้พวกเขาเข้าใจว่า การพูดจาดีๆ ต่อกันและไม่ทำร้ายกันด้วยคำพูดนั้นเป็นอย่างไร

หลังจบค่าย เราสังเกตได้เลยว่าเพื่อนๆ เริ่มล้อเรื่องเพศสภาพกันน้อยลง และทุกคนก็ตระหนักถึงการ Cyberbully กันมากขึ้น เพื่อนๆ LGBTQ ที่เคยทุกข์ใจก็กลับมาสดใสเหมือนเก่า แถมตอนนี้กลายเป็นว่าพอถูกคนที่ยังไม่ตื่นรู้เรื่องนี้ด่า เขาก็ไม่เก็บไปน้อยอกน้อยใจอีกแล้ว แต่เลือกที่จะเผยแพร่ความรู้นี้ให้เพื่อนๆ ได้รับรู้ถึงโทษของมันมากกว่า

แม้ตอนนี้กิจกรรมที่เราทำจะยังไม่ได้กระจายในวงกว้างนัก แต่เราก็คิดว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีนะ ยังคุยกันอยู่เลยว่าหากมีโอกาสพวกเราก็อยากจะจัดกิจกรรมขึ้นอีกครั้ง แต่จะเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายบ้าง จากที่เคยทำค่ายให้คนที่โดนล้อ ครั้งนี้อาจเปลี่ยนเป็นกลุ่มคนที่ล้อเพื่อนแทน หากได้รู้มุมมองทั้งสองมุมอย่างนี้
การ Cyberbully ในโรงเรียนของเราอาจน้อยลงและหายไปสักที

ฮาวทูจัดค่ายให้สนุกแบบ Salmon Theme

1. ต้องรู้ปัญหาและความต้องการที่แท้จริงของผู้เข้าร่วมกิจกรรมก่อน
2. ถ้าไม่มีคนมาก็แย่เลย ประชาสัมพันธ์ชวนเพื่อนมาเยอะๆ ชวนคนนอกด้วยก็ได้ เพราะของดี ไม่ควรจำกัดไว้แค่ในโรงเรียนนี่นา
3. เกมสนุกๆ และให้ความรู้คือสิ่งสำคัญเลย


#ส่องสกิลเด็ด

ความเป็นผู้นำ, การรับฟังผู้อื่น, การบริหารจัดการ

สมาชิกทีม Salmon Theme

น.ส.จิรภัทร์ อุทก, น.ส.ทิพานัน เปลือยหนองแข้,
น.ส.เนตรชนก ปะตังพะลัง, นายจีรเดช เนตรวงศ์,
นายชิษณุชา มีผล, อาจารย์เรืองกิตต์ เอราวรรณ



ภาพโครงการของพวกเรา