SAFE INTERNET CAMP

เซย์โนให้ข่าวปลอมและไซเบอร์บูลลี่ รู้ทันภัยเน็ตกับ TP Make Sure

Young Safe Internet Leader Camp Version Expanded at TP School โดยทีม TP Make Sure โรงเรียนทุ่งศุขลาพิทยา “กรุงไทยอนุเคราะห์” จังหวัดชลบุรี

พวกเรา TP Make Sure จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อขยายผลจากการเข้าค่าย Young Safe Internet Leader Camp Version 1.0 กับดีแทค โดยพวกเราเลือกหยิบประเด็นที่กำลังฮอตฮิตและเป็นที่พูดถึงในโลกออนไลน์ มาทำกิจกรรมฐาน เช่น การโพสต์และแชร์ Fake News โดยไม่ได้ตรวจสอบ

รวมถึงประเด็นที่น่าจะเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ในการใช้อินเทอร์เน็ต เช่น วิธีหลีกเลี่ยง Cyberbullying, Hate Speech

วิธีรับมือการล่อลวงทางไซเบอร์อื่นๆ รวมถึงกฎหมายคอมพิวเตอร์น่ารู้ เพื่อให้เพื่อนๆ โรงเรียนทุ่งศุขลาพิทยา “กรุงไทยอนุเคราะห์” สามารถใช้เทคโนโลยีและโซเชียลมีเดียไปในทางสร้างสรรค์และมีภูมิคุ้มกันไว้ป้องกันตัวเอง พร้อมรับมือภัยร้ายบนโลกอินเทอร์เน็ตอย่างรอบด้าน

พวกเราซึ่งเป็นนักเรียนแกนนำได้นำความรู้จากค่าย มาจัดกิจกรรมฐานสุดสนุกพร้อมสอดแทรกความรู้ให้กับ เพื่อนๆ ชั้น ม.1 จำนวน 100 คน (เป็นนักเรียนในกลุ่มวิชาทักษะเทคโนโลยีดิจิทัล และกลุ่มวิชาทักษะ อิเล็กทรอนิกส์-หุ่นยนต์) โดยเริ่มจากกิจกรรมแบ่งกลุ่มและสันทนาการเพื่อนำเข้าสู่กิจกรรมหลัก




ฐานที่ 1

เริ่มจากพวกเราซึ่งเป็นนักเรียนแกนนำเป็นคนพูดสรุปวิธีการตรวจสอบข่าวปลอมง่ายๆ ด้วยตนเอง พร้อมยกตัวอย่างการนำเสนอข่าวที่ให้เอะใจไว้ก่อนว่าน่าจะเป็นข่าวปลอม เพื่อปูพื้นฐานเรื่อง Fake News ให้เพื่อนๆ มีความรู้พื้นฐานเท่าๆ กันก่อน จากนั้นก็เข้าถึงกิจกรรม ‘สุมหัวหาข่าวปลอม’ ที่ให้แต่ละกลุ่มช่วยกันเช็กและวิเคราะห์ว่าข่าวตัวอย่างที่จัดเตรียมไว้ให้ เข้าข่ายข่าวปลอมหรือไม่ โดยให้แต่ละกลุ่มเขียนลงบนโพสต์อิทว่าทำไมถึงคิดว่าข่าวนั้นเป็นข่าวปลอม

‘เขาวงกต’ เราจำลองสถานการณ์ของเขาวงกตให้เหมือนกับตอนที่ท่องโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งมักจะมี clickbait หรือ โฆษณาลวง ที่หลอกให้เรากดเข้าไปดู

อย่างที่รู้กันดีว่าการเดินในเขาวงกตจะมีทั้งทางที่ถูกต้อง ซึ่งจะพาเราไปสู่ทางออก และทางหลอกที่จะพาเราไปสู่ทางตัน เราจึงออกแบบทางแยกในเขาวงกตนี้ให้มีทั้งทางที่ถูก และทางที่หลอก

ฐานที่ 2

เป็นการเรียนรู้เรื่องความเสี่ยงบนโลกอินเทอร์เน็ตในหัวข้อ‘การล่อลวงทางไซเบอร์’ (Sexual Abuse & Online Gambling) โดยเริ่มจากนักเรียนแกนนำเป็นคนอธิบาย ว่าการล่อลวงทางไซเบอร์คืออะไร จากนั้นก็ยกตัวอย่างเหตุการณ์ล่อลวงทางอินเทอร์เน็ตที่เกิดขึ้นจริง แล้วให้เพื่อนๆ ร่วมกันแชร์เหตุการณ์ที่เคยประสบหรือเคยได้ยินได้ฟังมา เพื่อเป็นอุทาหรณ์ให้เพื่อนๆ คนอื่นๆ ระวังตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่ประสงค์ดีที่แฝงมากับสังคมออนไลน์

ฐานที่ 3

เป็นฐานกิจกรรมในหัวข้อ ‘การระรานและสร้างความเกลียดชังทางอินเทอร์เน็ต’ (Cyberbullying & Hate Speech) ให้เพื่อนๆ รู้แนวทางการแก้ปัญหาและการรับมือ เมื่อถูกบูลลี่ เพราะพวกเราเชื่อว่าคงไม่มีใครอยากโดนคุกคามหรือโดนด่าทอทั้งในชีวิตจริงและโลกออนไลน์ พวกเราเลยดีไซน์กิจกรรมจำลอง Hate Speech ของชาวเน็ตขึ้น


โดยให้เพื่อนๆ เขียนคอมเมนต์บนโพสต์อิทแล้วไปแปะบนตัวนักเรียนอาสาสมัคร ซึ่งเพื่อนๆ ส่วนใหญ่ ก็เห็นตรงกันว่า ในชีวิตจริงเราคงไม่กล้าด่าทอเพื่อนเราต่อหน้าและคงไม่กล้าด่าคนที่ไม่รู้จัก ด้วยถ้อยคำแรงๆ แต่ทำไมบนโลกออนไลน์หลายคนถึงกล้าทำ กิจกรรมนี้จึงช่วยสะท้อนย้อนคิดว่า ก่อนจะพูดต่อว่าใครต้องนึกถึงใจเขาใจเรา และต้องคิดถึงผลกระทบที่จะตามมา เช่น การถูกฟ้องร้อง ซึ่งเป็นประเด็นที่จะเชื่อมโยงเข้าสู่ฐานถัดไป

ฐานที่ 4


เป็นการบรรยายความรู้เกี่ยวกับ ‘การกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์และกรณีศึกษา’ โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.แหลมฉบัง ได้ให้ข้อมูลที่มีประโยชน์มากๆ เช่น ข้อกฎหมายและบทลงโทษที่เด็กๆ อย่างเราไม่เคยรู้มาก่อน พอได้รู้แล้วก็ทำให้พวกเราใช้อินเทอร์เน็ต อย่างระมัดระวังมากขึ้น


ปิดท้ายด้วยการเล่นเกมทดสอบความรู้เรื่อง ‘การรับมือกับความเสี่ยงบนโลกอินเทอร์เน็ต’ บนเว็บไซต์ Kahoot! ซึ่งหลังจากที่เพื่อนๆ เข้าร่วมฐานกิจกรรมและฟังบรรยายความรู้จากผู้เชี่ยวชาญ ก็ทำคะแนนได้ดีเยี่ยม

สุดท้ายนี้ พวกเราต้องขอขอบคุณเพื่อนๆ ทุกคนที่ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี พวกเราภาคภูมิใจ ที่เป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารความรู้เรื่องภัยร้ายทางโลกอินเทอร์เน็ต และเป็นตัวแทนถ่ายทอด วิธีรับมือภัยร้ายใกล้ตัวทางอินเทอร์เน็ตให้เพื่อนๆ ในโรงเรียนได้รับรู้

กิจกรรม TP Make Sure จึงเป็นกิจกรรมที่สื่อสารเรื่องภัยร้ายบนโลกออนไลน์ที่ดูจริงจัง ให้กลายเป็นเรื่องสนุกและใกล้ตัวซึ่งเพื่อนๆ ก็ให้ความสนใจด้วยความกระตือรือร้น และที่พวกเราดีใจที่สุดคือ เพื่อนๆ ให้ฟีดแบ็กว่าฐานกิจกรรมช่วยให้ความรู้ที่สามารถนำไปปรับใช้ได้ในชีวิตจริง พวกเราสัญญาว่าจะยังคงประชาสัมพันธ์เรื่องนี้อย่างสม่ำเสมอ

และจะหาโอกาสจัดกิจกรรมสนุกๆ แบบนี้ให้เพื่อนๆ เข้าร่วมอีกในครั้งต่อๆ ไป

เคล็ด (ไม่) ลับ จัดค่ายให้สนุกสนานแถมได้ความรู้ไปประยุกต์ใช้จริง แบบ TP Make Sure

1. สำรวจปัญหาใกล้ตัวในโรงเรียน แล้วดึงมาทำกิจกรรมโดยใช้การสื่อสารที่มีความสนุกสนานนำ เช่น เกมทดสอบความรู้ที่สอดแทรกเรื่องการรับมือความเสี่ยงในโลกอินเทอร์เน็ต
2. เชิญวิทยากรผู้มีความรู้เฉพาะทางมาให้ข้อมูลเชิงลึกกับเพื่อนๆ เพื่อจะได้รับรู้เหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นจริงและวิธีปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมเมื่อเจอเหตุต่างๆ
3. ดึงเพื่อนๆ ให้เข้ามาแสดงเป็นเคสตัวอย่าง เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วม และเป็นการทำความรู้ยากๆ ให้เข้าถึงได้ง่ายโดยการจำลองผ่านตัวบุคคล


#ส่องสกิลเด็ด

การทำงานร่วมกันเป็นทีม, การวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลอย่างเป็นระบบ

สมาชิกทีม Rattana Cyber Kids

สมาชิกทีม TP Make Sure

ด.ญ.ภัทรลภา เพ็ชรใส, นายบัญญพนต์ ไชยอาจ,
นางสาวพรรณนารา บังศรี , นายวีระภัทร แสงอรุณ,
ด.ช.อานนท์ อาทิ, อาจารย์รัชวุฒิ แจ้งมาก



ภาพโครงการของพวกเรา