SAFE INTERNET CAMP

แปลงความรู้เป็นเสียงตามสาย ชวนเพื่อนๆ ช่วยกันต้านภัยเน็ต

Young Safe Internet Leader Camp Version Expanded at PSR. School โดยทีม FORGOT โรงเรียนแก้งคร้อวิทยา จังหวัดชัยภูมิ

ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก จากการท่องโลกอินเทอร์เน็ตเป็นประจำ วัยรุ่นอย่างเราก็รู้กันดีว่าอินเทอร์เน็ตนั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม ประโยชน์มีมากมายแน่ล่ะ แต่โทษก็มีเช่นกันถ้าเราใช้งานอย่างไม่ระมัดระวังหรือขาดการไตร่ตรองมากพอ

แต่ถึงอย่างนั้น การเข้าร่วมกิจกรรมกับ Young Safe Internet Leader Camp Version 1.0 ทำให้เราเห็นภาพความอันตรายในโลกไร้พรมแดนนี้ชัดขึ้น ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากชั่วพริบตาเดียวของนักเลงคีย์บอร์ด คำพูดแง่ลบเหล่านั้นมักเต็มไปด้วยความมักง่ายและความสนุกสนาน โดยปราศจากการรับรู้และความเห็นใจ ต่อคนรอบข้าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้อาจนำมาซึ่งความเสียหายทางด้านจิตใจและร่างกายของเหยื่อโดยที่เราคิดไม่ถึง นั่นเป็นสาเหตุที่เราควรใช้อินเทอร์เน็ตอย่างชาญฉลาด สื่อสารกับทุกคนด้วยสติ

เมื่อได้รับความรู้กลับมาแล้ว เราจึงเริ่มวางแผนกิจกรรมเพื่อส่งต่อความรู้และกระตุ้นให้ทุกคนที่โรงเรียน และคนรอบข้างเห็นความน่ากลัวของพฤติกรรมรังแกคนอื่นบนอินเทอร์เน็ตหรือ Cyberbullying และ Hate Speech ซึ่งครอบคลุมหมดทุกอย่าง

ตั้งแต่การใช้ถ้อยคำ รูปภาพ รวมถึงคลิปวิดีโอ ที่สร้างความอับอายและความรู้สึกไม่ดีแก่ผู้อื่น
รวมถึงพฤติกรรมการแชร์ข่าวปลอมหรือ Fake News ที่นำไปสู่การสร้างกระแสความเชื่อผิดๆ ในสังคมอีกด้วย

โดยเราชักชวนเพื่อนๆ ตั้งคำถามว่ากำลังตกเป็นเหยื่อของภัยร้าย ในโลกอินเทอร์เน็ตอยู่หรือเปล่า เราเผลอสนับสนุนหรือเข้าร่วมโดยไม่รู้ตัวอยู่หรือไม่ เพราะถ้าทุกคนเห็นถึงปัญหา การจะแก้ไขหรือป้องกันไม่ให้สิ่งนี้เกิดก็ไม่ใช่เรื่องยากแล้ว

พวกเราจึงร่วมกันคิดค้นโครงการ Driven Together เป้าหมายคือ อยากให้ทุกคนใช้พลังของตัวเองในการสร้างแรงขับเคลื่อนดีๆ ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างถูกต้อง แน่นอนว่าการสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมโรงเรียนไม่ใช่เรื่องง่าย อุปสรรคใหญ่ของพวกเราคือการค้นหาข้อมูลเชิงทฤษฎี และบทความวิชาการต่างๆ ที่ช่วยสนับสนุนความคิดเห็นเกี่ยวกับ ประเด็นทางสังคมในโรงเรียน แต่โชคดีที่ความรู้จากค่าย dtac ช่วยให้ทั้งกลุ่ม สามารถแยกแหล่งข่าวได้อย่างชัดเจนว่าเชื่อถือได้หรือไม่


หลังจากนั้นพวกเราจึงช่วยกันจัดรายการเสียงตามสายที่โรงเรียนทุกวันศุกร์ในช่วงพักกลางวัน ชื่อว่า Safe Internet School Club เพื่อสร้างกระแสความสนใจเรื่องภัยจากอินเทอร์เน็ต โดยรายการนี้จะพูดคุยถึงข่าวสารและความรู้เกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตและโลกออนไลน์

เมื่อเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ เริ่มสนใจภัยของโลกออนไลน์แล้ว เราจึงเริ่มทำกิจกรรมหลักของโครงการ โดยชวนน้องๆ ที่สนใจจำนวน 51 คน มาทำกิจกรรมสันทนาการ พร้อมบรรยายความรู้ เกี่ยวกับภัยที่คุกคามเด็กสมัยใหม่ในอินเทอร์เน็ตรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น Cyberbullying, Sexual Abuse, Hate Speech หรือ Fake News

โดยกลุ่มเราเลือกที่จะดำเนินกิจกรรมรูปแบบเดียวกันกับค่าย dtac เพราะรู้สึกว่าวิธีการให้ความรู้พร้อมความสนุก ทำให้ผู้ร่วมกิจกรรมเปิดใจและรับฟังสาระโดยไม่ปิดกั้น รวมถึงยังสามารถประเมินผลความเข้าใจ ของผู้ร่วมกิจกรรมได้ง่ายอีกด้วย

นอกจากนั้นในวันงานยังเต็มไปด้วยบรรยากาศการกระตุ้นให้น้องๆ ได้แชร์ประสบการณ์ส่วนตัวที่เกี่ยวกับ การใช้งานอินเทอร์เน็ต ว่าใครที่เคยรับบท ‘ผู้รังแก’ และใครที่เคยรับบท ‘เหยื่อ’ บ้างในหัวข้อต่างๆ ในช่วงเวลานั้นแต่ละคนรู้สึกอย่างไร และช่วยกันนำเสนอวิธีรับมือกับถ้อยคำรุนแรงหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ในโลกอินเทอร์เน็ตได้ดีขึ้น

“ในช่วงเวลาแห่งการพูดคุยครั้งนี้ ทุกคนก็ได้ฟังประสบการณ์ของรุ่นน้องคนหนึ่งในโรงเรียน ที่เป็นเหยื่อของ Cyberbullying และข่าวลือในโรงเรียน สร้างบาดแผล และความเสียใจให้น้องเป็นอย่างมาก แต่น้องก็อดทนและพยายามยืนหยัดเพื่อพิสูจน์ ความจริงของตัวเองมาโดยตลอด ทุกคนต่างเศร้าและชื่นชมกับประสบการณ์ของน้อง เป็นอย่างมาก เรื่องราวของน้องคนนี้จุดประกายเพื่อนๆ คนอื่นในวงสนทนาให้เห็นภัยร้าย ที่ใกล้ตัวของอินเทอร์เน็ตมากยิ่งขึ้น ทุกคนต่างหวังว่าเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดขึ้น ในสังคมโรงเรียนของเราอีก”

หลังจบกิจกรรมก็ถึงเวลาที่เราจะได้ประเมินความเข้าใจของน้องๆ ด้วยการตั้งคำถาม และให้เขียนอธิบายตามความเข้าใจ นี่เป็นวิธีประเมินที่เราเรียนรู้จากค่าย dtac ผลลัพธ์ที่ออกมาทำให้เราเห็นภาพชัดเจนมากๆ ว่าน้องแต่ละคน มีความเข้าใจมาก-น้อยแค่ไหน และได้ความรู้อะไรติดตัวกลับไปบ้าง ซึ่งผลการประเมินของทุกคนอยู่ในระดับดีและดีมาก

ไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมนี้ช่วยให้บรรยากาศในโรงเรียนเราเปลี่ยนไป ทุกคนแชร์ข่าวสารต่างๆ ด้วยความระมัดระวังมากกว่าเดิม ข่าวลือน้อยลง ข่าวการนินทาหรือกล่าวร้ายคนอื่นลดลง พวกเราดีใจมากที่ได้สร้างแรงขับเคลื่อนในสังคมที่เราเป็นส่วนหนึ่งอย่างสังคมโรงเรียน และหวังว่ากิจกรรมแบบนี้ จะเดินหน้าสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมต่อไป

เคล็ดลับการ Drive ไปด้วยกันแบบทีม FORGOT

1. กิจกรรมต้องสนุก ไม่ท่องจำ เพื่อสร้างความรู้คู่ความเข้าใจ
2. ประสบการณ์คือบทเรียนที่มีค่า ชวนให้เรียนรู้จากเหตุการณ์จริง
3. เริ่มแล้วอย่าหยุด ต้อง Drive ต่อเนื่องด้วยการอัพเดตข่าวสาร


#ส่องสกิลเด็ด

การสื่อสาร, การแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน, การนำกิจกรรมสันทนาการ

สมาชิกทีม FORGOT

นายรชเขตต์ ขวาไทย, น.ส.มณีวรรณ พลมณี,
น.ส.กชพร หาเมืองกลาง, ด.ช.ปณชัย จอสูงเนิน,
ด.ช.ปกป้อง มาตรกำจร, อาจารย์สมหวัง ชัยเลิศณรงค์กุล



ภาพโครงการของพวกเรา