SAFE INTERNET CAMP

ประกวดหนังสั้น No Bullying เด็กรุ่นใหม่จะไม่บูลลี่และไม่ยอมถูกบูลลี่

No Bullying โดยทีม Youngblood โรงเรียนพรตพิทยพยัต จังหวัดกรุงเทพมหานคร

‘แกๆ รู้ข่าวยังที่รุ่นพี่สุดหล่อของเราเป็นแฟนกับเด็ก ม.4 ฉันว่าคนนั้น ไม่สวยเลย ตัวก็อ้วนแถมผิวก็ดำ’

‘แกๆ รู้ข่าวยังว่า เด็ก ม.2 โรงเรียนเราที่ติ๋มๆ โดนรุมกระทืบ หลังห้องน้ำ เพราะไปมองหน้ารุ่นพี่’

แกๆ คนนี้ใช่ปะที่มีคลิปหลุดโดนตบ แต่ก็สมควรแล้ว อยากไปแย่งแฟนเขาเอง’

ประโยคด้านบนเป็นเรื่องราวการกลั่นแกล้งที่พวกเราทีม Youngblood และเพื่อนๆ คนอื่นๆ เคยได้ยินได้ฟังกันมาอยู่เรื่อยๆ

และจากที่พวกเราไปหาข้อมูลมา แบบสอบถามเรื่องการกลั่นแกล้งและความรุนแรงในสถานศึกษา ซึ่งจัดทำโดยเครือข่าย นักกฏหมายเพื่อเด็กและเยาวชน ที่สำรวจเด็ก 1,500 คน จาก 15 โรงเรียนทั่วประเทศ บอกว่า เด็กช่วงอายุประมาณ 13-15 ปี มักเป็นช่วงที่ถูกกลั่นแกล้งมากที่สุด
โดยวิธีแกล้งมีทั้งการทำร้ายร่างกาย พูดเหยียดหยาม ล้อปมด้อย รวมไปถึงการกลั่นแกล้งในสื่อออนไลน์ หรือ Cyberbullying



และด้วยความที่พวกเราเคยอยู่ชมรมหนังสั้นของโรงเรียนมาก่อน ก็เลยคิดว่า
การจัดประกวดหนังสั้นหัวข้อ ‘No Bullying’ ให้กับรุ่นน้องที่โรงเรียนน่าจะเป็นกิจกรรมที่เหมาะสม เพราะหนังสั้นเป็นสื่อที่เข้าถึงง่าย อีกทั้งเวลาได้ช่วยกันวางแผน เขียนบท และออกกองถ่ายทำกับเพื่อนๆ ก็สนุกมากๆ รวมถึงได้ฝึกการทำงานเป็นทีมไปด้วยในตัว

แต่ก่อนจะแจกโจทย์ให้รุ่นน้องลงมือถ่ายทำหนังสั้น พวกเรารู้ว่าการ จะทำหนังสั้นสักเรื่องขึ้นมา คนทำจะต้องเชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ จึงเริ่มสำรวจก่อนว่าน้องๆ มีความเข้าใจเรื่องการบูลลี่อย่างไรบ้าง ซึ่งเราตกใจมากที่ได้พบว่าน้องๆ ส่วนใหญ่คิดว่าการกลั่นแกล้งทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์เป็นเรื่องปกติ พวกเราจึงยิ่งฮึกเหิม อยากช่วยให้น้องๆ ปรับความเข้าใจเรื่องนี้กันเสียใหม่

ดังนั้นพวกเราเลยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือการอบรมเนื้อหาเรื่องการบูลลี่ และแบ่งปันเทคนิควิธีการถ่ายทำหนังสั้น โดยเริ่มจากการพาน้องๆ ทำ mind mapping ระดมไอเดียเกี่ยวกับการบูลลี่

จากนั้นจึงให้ความรู้ที่ถูกต้อง ยกตัวอย่างเหตุการณ์การบูลลี่ที่เกิดขึ้นจริงในสังคมไทย เพื่อให้น้องๆ เห็นผลกระทบและความรุนแรงของการบูลลี่ทั้งในโลกจริงและโลกออนไลน์ พวกเรายังสอนน้องๆ ด้วยว่า หากตัวเองถูกบูลลี่หรือเห็นเพื่อนๆ ถูกบูลลี่จะต้องรับมืออย่างไร เช่น กดบล็อก ไม่ตอบโต้ และแจ้งครูหรือพ่อแม่

พอจบเรื่องการบูลลี่ เราก็แนะแนววิธีการทำหนังสั้น โดยเราได้รวบรวมคลิปวิดีโอหนังสั้นที่เล่าประเด็นบูลลี่ มาเป็นตัวอย่างให้น้องๆ ดูเพื่อสร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย

จากนั้นก็ถึงเวลาออกกองถ่ายทำจริงๆ ซึ่งพวกเราก็ไม่ได้ปล่อยให้น้องๆ ไปทำกันเอง แต่พวกเรายังแยกกันไปเป็นสตาฟลงพื้นที่กับน้องๆ โดยพวกเรา 1 คนจะดูแลน้อง 5 คน หากน้องมีปัญหาขณะถ่ายทำ พวกเราจะคอยช่วยให้คำปรึกษา แต่ส่วนใหญ่จะปล่อยให้น้องได้โชว์ไอเดียสร้างสรรค์หนังสั้นออกมาตามความเข้าใจของตัวเองมากกว่า

ในทำโปรเจกต์นี้พวกเราดีใจที่ได้ช่วยพูดถึงปัญหาสังคม แม้จะมีอุปสรรคเกิดขึ้นบ้าง เช่น น้องบางกลุ่มก็ทำหนังสั้นไม่เสร็จเพราะติดสอบปลายภาค แต่พวกเราก็ไม่เสียใจ เพราะอย่างน้อยน้องๆ ทั้ง 25 คนก็ได้รับรู้ถึงปัญหาและเห็นความสำคัญในการต่อต้านการบูลลี่แล้ว

ไม่เฉพาะน้องๆ พวกเราเองก็ได้เรียนรู้อะไรมากขึ้นเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็น การทำงานเป็นทีม การกล้าทดลองทำอะไรใหม่ๆ การแก้ปัญหาเฉพาะหน้าเมื่อพบเจออุปสรรค หรือแม้กระทั่งการบริหารจัดการเงินทุนที่ได้มาเพื่อซื้ออุปกรณ์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ทำให้พวกเราทุกคนเติบโตขึ้นมากๆ เลยล่ะ

แต่สุดท้ายสิ่งที่พวกเราชื่นใจที่สุดก็คือ การได้เห็นน้องหลายๆ คนสนุกไปกับกิจกรรมของพวกเรา และบอกพวกเราว่าอยากให้มีโครงการดีๆ แบบนี้อีกต่อไป



สมาชิกทีม Youngblood

นายณัฐวุฒิ คงชุ่ม, นายวรดร พุ่มโพธิ์,
ด.ญ.อิษยา นิ่มวัฒน์, ด.ช.ธีรภัทร ศรีวิเศษ,
ด.ญ.จิรานุช วรบัติ, อาจารย์รัชพล ไชยวงค์

เคล็ดลับจัดประกวดหนังสั้นให้ปังแบบ ‘ทีม Youngblood’

1. เช็กก่อนว่ากลุ่มเป้าหมายมีความรู้เกี่ยวกับโจทย์ที่เราจะให้ทำมากน้อยขนาดไหน 2. ถ้าไม่รู้ก็ต้องทำให้รู้!
3. แรงบันดาลใจก็สำคัญ อย่าลืมหาตัวอย่างหนังสั้นหลายๆ แบบมาให้ดู
4. อย่าปล่อยน้องๆ ทำเองโดยไม่ช่วยเหลือ ต้องเป็นเมนเทอร์ให้น้องๆ ด้วยนะ


#ส่องสกิลเด็ด

ความเป็นผู้นำ, การเขียนบทและถ่ายทำหนังสั้น


ถ้าหากใครสนใจอยากทดลองเล่นบอร์ดเกมที่พวกเราออกแบบในโครงการนี้ ก็สามารถดาวน์โหลดไฟล์ได้จากปุ่มด้านล่างนี้เลย!

  ดาวน์โหลด  


ภาพโครงการของพวกเรา